bicycle tube valve รูปจุ๊บลมจักรยานแบบ หัวใหญ่ shrader หัวเล็ก presta และหัวไส่ไก่ dunlop

แนะนำวิธี เติมลมจักรยาน

ทำความรู้จักกับยางจักรยานของคุณ

ขอนำข้อมูลต่างๆขั้นพื้นฐากที่เกี่ยวกับการเติมลมจักรยานให้ถูกวิธี การเลือกใช้ความดันลมให้เหมาะกับยาง วิธีการดูสเปคยาง ทั้งยางนอกและยางใน หัวจุ๊บเติมลมแบบต่างๆ และการเลือกที่สูบลมจักรยานให้เหมาะกับคุณและจักรยาน และสำหรับสมาชิกชาวโตเกียวไบค์เราสรุปไว้ให้ในตอนท้ายแล้วนะครับ

Home / Blog / แนะนำวิธี เติมลมจักรยาน
Last updated: Tuesday 25th of September 2018

คำถามสำคัญของผู้ใช้งานจักรยานมือใหม่ หรือเพิ่งซื้อรถใหม่ หรือกำลังจะต้องเปลี่ยนยางกัน คือ เราควรจะเติมลมเท่าไหร่? ที่สูบลมที่มีอยู่ใช้ได้รึเปล่า? ควรซื้อสูบแบบไหนดี? หรือยางจักรยานของเรารุ่นไหน ขนาดเท่าไหร่? คำตอบคือ ที่แท้แล้วข้อมูลเหล่านี้ถูกระบุไว้บนแก้มยางของคุณอยู่แล้ว ซึ่งเราขอขยายความไว้เป็นหัวข้อดังนี้ (ข้อมูลที่เราเสนอจะเป็นรถจักรยานประเภท commute bike, city bike และจักรยานเสือหมอบบางส่วน)

อ่านสเปคยาง

ข้อมูลเกือบทั้งหมดของยางนั้นได้ถูกระบุไว้บนแก้มยางไว้แล้ว มันบอกอะไรเราได้บ้าง

ขอบยางแสดงยางขนาด 26x1.15 ของจักรยาน tokyobike ขอบยางแสดงยางขนาด 650x25C ของจักรยาน tokyobike

แรงดันลมสูงสุดที่ยางรองรับได้ (Max. inflate to PSI /Bar) บอกแรงดันลมสูงสุดที่ยางรับได้ คืออย่าเติมเกินนี้ จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ เช่นยางฉีก ยางแยก ยางหลุดจากขอบล้อ เป็นต้น

ขนาดของยาง ตัวเลขบอกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง และขนาดหน้ากว้างของยาง ทำให้เรารู้ถึงขนาดยางที่ใช้อยู่ได้ แต่ปัญหาอยู่ตรงที่มันมีหลายมาตรฐานในการระบุ ขึ้นกับยี่ห้อ, ความนิยมของขนาดยางในกลุ่มประเทศนั้นๆ เป็นต้น ยางแต่ละรุ่นจึงอาจมีการระบุขนาดที่ต่างมาตรฐานกัน จึงสร้างความสับสนให้แก่ผู้ใช้งานในการเลือกซื้อยางในและยางนอก มาตรฐานของยางที่เห็นใช้กันอยู่มี 3 มาตรฐานคือ (เข้าเทคนิคนิดหน่อยครับ หรือกระโดดข้ามไปอ่านสรุปท้ายส่วนนี้ได้เลย)

British / USA Size จะเห็นตัวเลขเช่น 26 x 1.15, 26 x 1-1/4 เป็นต้น เส้นผ่าศูนย์กลาง x หน้ากว้าง (dimeter x tire witdh) หน่วยเป็นนิ้ว (inch) มาตรฐานนี้เป็นที่นิยมกันมานาน แต่อาจทำให้เกิดความสับสนได้มาก เนื่องจาก ค่าเส้นผ่าศูนย์กลางนั้นวัดจากขอบยางถึงยาง เค้าเหมารวมความสูงของยางที่ใส่เข้าไปด้วย แต่ยางนั่นมีหลายประเภททั้งแก้มสูง-แก้มเตี้ย ตัววงจึงไม่เท่ากัน ซึ่งอาจทำให้สับสนซื้อผิดได้

French Size จะเห็นตัวเลขเช่น 650x25c, 700x23c เป็นต้น คือ เส้นผ่าศูนย์กลาง x หน้ากว้างของยาง หน่วยเป็นมิลิเมตร และวัดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ขอบล้อถึงขอบล้อ มาตรฐานนี้จะเที่ยงตรงกว่า ไม่สับสน แต่เนื่องจากขนาดยางไม่หลากหลาย จึงมีเฉพาะบางรุ่น

ISO (ETRTO) เป็นมาตรฐานใหม่ที่ผู้ผลิตยอมระบุบนยางจักรยาน ตัวอย่างเช่น 32-559, 28-622 คือ หน้ากว้างของยาง-เส้นผ่าศูนย์กลาง หน่วยเป็นมิลิเมตร วัดจากขอบใน (หรือ bead seat ซึ่งจะสั้นกว่าการวัดแบบ French นิดหน่อย)

สรุปตรงนี้ดีกว่า คือถ้าจะไปซื้อยาง ให้บอกตัวเลขขนาดของยางไปให้หมดทั้งเส้นผ่าศูนย์กลางและหน้ากว้างของยาง โดยเฉพาะ ISO รับรองไม่ผิดแน่ๆครับ และให้ทางร้านคอนเฟิร์มว่าต้องใส่ให้ได้ครับ สำหรับยางในก็ต้องพอดีกับขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลาง ไม่เอาใหญามาใส่เล็ก ไม่เอาเล็กใส่ใหญ่ และหน้ากว้างของยางในก็ควรอยู่ในช่วงที่ครอบคลุมถึงหน้ายาง โดยยางรุ่นใหม่ก็มีมาตรฐาน ISO ระบุไว้กันสับสนแล้วด้วย

ประเภทหัวจุ๊บเติมลม หรือ วาล์วยางใน (Bicycle inner tube valve types)

เราจะเห็นหัวจุ๊บเติมลมจักรยาน 3 ประเภท คือ

bicycle tube valve รูปจุ๊บเติมลมจักรยานแบบ หัวใหญ่ shrader หัวเล็ก presta และหัวไส่ไก่ dunlop

Presta valve (จุ๊บหัวเล็ก หรือ French valve) โดยเห็นมากในจักรยานที่ใช้แรงดันสูง เช่นจักรยานเสือหมอบ วิธีการเติมต้องคลายเกรียวน็อตปิดลมออกจึงจะเติมลมได้ และต้องหมุนปิดเมื่อเติมเสร็จ (ส่วนตัวจุกปิดฝาลมกันฝุ่น ไม่ได้เป็นตัวกันลม)

Schrader valve (จุ๊บหัวใหญ่ หรือ American valve) หรือที่เรียกว่าหัว auto valve เหมือนกับที่ใช้ในรถยนต์ทั่วไป ส่วนใหญ่ใช้กับรถที่ใช้แรงดันลมต่ำกว่า เช่นรถ commuter bike, city bike, จักรยานเสือภูเขาเป็นต้น ข้อดี หาสูบง่าย เติมที่ปั๊มน้ำมันได้ วิธีเติมลม เติมได้เลย (ถอดจุกกันฝุ่นออกก่อนนะ 🙂 ตัวจุกปิดฝาลมกันฝุ่น ไม่ได้เป็นตัวกันลม)

Dunlop valve (จุ๊บหัวไส้ไก่ หรือ British valve) หัวแบบเก่า จะเจอมากในรถรุ่นเก่าๆ และรถจากประเทศญี่ปุ่น จักรยานแม่บ้านญี่ปุ่น ลักษณะข้างในเป็นยางที่เรียกว่าไส้ไก่ สึกหลอ ขาดได้ ไม่ค่อยเห็นในรถรุ่นใหม่ๆ ที่สูบเติมลมก็หายากเช่นกัน ต้องใช้ตัวแปลงหัวเพื่อจะสูบกับสูบรุ่นปัจจุบัน และไม่สามารถวัดแรงดันผ่านสูบได้ จักรยานที่ใช้อยู่ควรพิจารณาเปลี่ยนยางในที่เป็นหัวใหญ่แทนเมื่อมีโอกาส

หัวยางในแบบต่างๆ

ดังนั้นต้องรู้ว่าจักรยานของเราเป็นหัวแบบไหน เมื่อเวลาเติมลมจึงนะเลือกหัวสูบได้ถูกต้องนะครับ

เติมลมจักรยาน ด้วยแรงดันลมที่เหมาะสม

วิธีคิดคร่าวๆ เมื่อรู้แรงดันสูงสุดที่รับได้แล้ว ให้เติมลม 70-80% ของ maximum เช่น 125 psi ให้เติม 85-100 psi ทั้งนี้แรงดันที่เหมาะสมอาจขึ้นอยู่กับน้ำหนักรวมของคนขี่ด้วย เช่นถ้าคนตัวใหญ่น้ำหนักเยอะอาจชดเชยเติมลมเพิ่มกว่าปรกติ หรือกรณีตัวเล็กก็กลับกัน เป็นต้น และปัจจัยเรื่องสภาพถนน และความต้องการความนุ่มนวลที่มากขึ้นในบางกรณี แต่ไม่ควรเติมน้อยเกินไปจะทำให้ยางมีปัญหาได้

“เติมลม 70-80% ของ maximum pressure ของยาง
เช่น 125 psi ให้เติม 85-100 psi”

ข้อสังเกตุที่คนมักแปลกใจประจำคือ ยางที่มีขนาดเล็ก (volumn น้อย) มักใช้แรงดันที่สูง แต่ยางใหญ่ (volumn มาก) นั้นจะใช้แรงดันน้อย ตามหลักวิทยาศาสตร์ และข้อควรระวังคือยางในต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับยางนอก และรับแรงดันได้พอๆกัน



ที่สูบลม และชนิดของหัวสูบ

ตามที่ให้ข้อมูลประเภทของหัวจุ๊บลมจักรยานไปแล้ว เราก็ต้องซื้อสูบที่สามารถเติมรถเราได้ (และรถคันอื่นๆของเราได้ด้วย) หัววาล์วรุ่นปัจุบัน ประเภทหัวเล็กและหัวใหญ่ ไม่ค่อยจะมีปัญหา เพราะสูบส่วนมากรองรับทั้ง 2 แบบ แต่จะมีลักษณะของหัวสูบแตกต่างกันไปตามยี่ห้อเช่น หัวรูเดียวสูบได้ทั้งสองแบบ หัวสองรูแยกกันสูบหัวใครหัวมัน หรือแบบที่ซับซ้อนหน่อยที่ต้องสลับกลไกข้างในแต่ก็สูบได้ แต่หัวแบบไส้ไก่นั้นที่สูบอาจหายาก ต้องใช้ตัวแปลง (adaptor) มาช่วยให้สามารถสูบด้วยสูบหัวใหญ่ได้ เราจึงแนะนำให้ใครที่ยังใช้ยางในแบบไส้ไก่เปลี่ยนมาใช้วาล์วหัวใหญ่เมื่อเปลี่ยนยางในครั้งถัดไป

หัวที่สูบสำหรับเติมลมจักรยานแบบต่างๆ

แนะนำการซื้อที่สูบลม

ที่สูบลมสำหรับใช้ที่บ้าน (ไม่รวมแบบพกพา) ที่แนะนำเราเองจัดแยกได้เป็น 3 กลุ่ม

1. ราคาดี ทำจากพลาสติก มีที่วัดแรงดัน ราคาถูก (ต่ำกว่า 1,000) ข้อด้อย สูบยางแรงดันได้พอประมาณ (เกินร้อยได้นิดหน่อย) แต่ต้องออกแรงเยอะในช่วงแรงดันสูง ไม่เหมาะกับผู้หญิงตัวเล็กๆ

2. ราคาปานกลาง (1,000 - 2,000++) เป็นโหละ สวยงาม มีที่วัดแรงดันที่ค่อนข้างถูกต้อง สูบยางแรงดันสูงได้ (ถึงร้อยปลายๆ) สูบง่าย ออกแรงน้อย แต่ราคาสูง และวิธีล็อกหัว เปลี่ยนหัวสูบค่อนข้างซับซ้อน

3. สูบของขาแรง ที่ต้องการเติมลมเกิน 200psi สำหรับยางฮาฟ (ไม่มียางใน) ที่รองรับแรงดันสูงมากๆได้ ราคาสูง และอาจมีแค่หัว presta เท่านั้น

ดังนั้นข้อสำคัญของการซื้อสูบคือ เลือกที่รองรับหัวจุ๊บจักรยานของเรา คุณภาพและแรงที่ใช้ในการสูบเป็นหลัก


คำแนะนำ ก่อนทำการขี่ควรเติมลมในปริมาณที่ถูกต้องก่อนขี่ เพราะถ้าลมน้อยจะเกิดความเสียหายกับยางแน่นนอน และเมื่อไม่ได้ใช้รถเป็นเวลานาน อาจมีการซึมออกของลมได้ ควรเติมลมจักรยานให้มีลมอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้ยางแบนสนิด จะเกิดการกดทับที่ใดที่หนึ่งเกิดความเสียหายได้เช่นกัน โดยปรกติยางในจักรยานจะมีลมซึมออกมาได้ในขณะจอด อาจมากถึง 20 psi ในอาทิตย์แรก ก็เป็นเรื่องปรกติ


ข้อมูลยางและปริมาณแรงดันลมของจักรยานโตเกียวไบค์

สำหรับสมาชิกโตเกียวไบค์ เราได้รวบรวมข้อมูลของรุ่นต่างๆมาให้ไว้ที่นี่แล้ว หรือถ้าไม่แน่ใจเกี่ยวกับเรื่องต่างของยางนอก ยางใน และเรื่องอุปกรณ์สูบลมต่างๆ เรายินดีแนะนำครับ

หัวที่สูบลมจักรยานแบบต่างๆ
Reference : ข้อมูลอ้างอิง

ParkTool TIRE, WHEEL AND INNER TUBE FIT STANDARDS

Tokyobike is City Bike

จักรยาน tokyobike จักรยานแบรด์ญี่ปุ่น ที่ออกแบบมาเพื่อขี่ในเมือง ขี่เล่นออกกำลังกาย มีดีไซน์มินิมอล คลาสสิก เข้ากับ lifestyle และการใช้งานในเมือง

Explore all bike models